วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

สถานการณ์การรักษาโรคไตโดยวิธีฟอกเลือด

สถานการณ์การรักษาโรคไตโดยวิธีฟอกเลือด ฟอกล้างของเสียออกทางช่องท้องและปลูกถ่ายไตในปัจจุบัน
เมื่อไตเป็นโรครุนแรงจนเสียการทำงาน มีสมรรถภาพไตเหลือน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของคนปกติ ก็ก่อให้อาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจนจากการมีของเสียคั่งในร่างกาย ของเสียเหล่านี้มาจากกระบวนการเผาผลาญอาหารที่รับประทานเป็นส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดอาการโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อยลง อาการบวมซึ่งเมื่อรุนแรงมากขึ้นก็มีอาการหอบ เหนื่อย นอนราบไม่ได้ ระยะท้ายกระตุก ซึม หมดสติ และอาจมีอาการชัก โดยทั่วไปเมื่อไตหยุดการทำงานและไม่มีการฟื้นตัวของสมรรถภาพไตอีก ผู้ป่วยก็ยังมีชีวิตต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วยความทุกข์ทรมานและที่สุดก็เสียชีวิตไปในเวลาไม่กี่สัปดาห์
วงการแพทย์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีการปลูกถ่ายไตครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมามีการใช้เครื่องไตเทียมฟอกเลือด (hemodialysis) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และมีการพัฒนาวิธีการฟอกล้างของเสียออกทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ การรักษาโรคไตทั้งสามวิธีจัดว่าเป็นการรักษาเพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองอย่างเพียงพอ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่รอดอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร เป็นความมหัศจรรย์ในทางการแพทย์ แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรมอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์เมื่อพบว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ช่วยชีวิตได้แต่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในปัจจุบันแต่ละวิธีทั้งสามวิธีต้องใช้ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้ที่ป่วย รวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้องไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นจำนวนมากไม่ได้รับการรักษา ปัจจุบันในประเทศไทย ผู้ที่ป่วยที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างของราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งครอบครัว และ ผู้ที่มีประกันสังคมเท่านั้นที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาด้วยวิธีรักษาทดแทนไตทั้งสามวิธี ส่วนผู้ที่ใช้บัตรทองยังไม่สามารถเบิกค่ารักษาด้วยวิธีดังกล่าว แต่ข่าวดีก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานโครงการ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” กำลังทุ่มเทความพยายามที่จะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์รจิต บุรี เป็นอายุรแพทย์โรคไตและเป็นอดีตเสรีไทยสายยุโรปผู้มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เอกราชของประเทศในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านได้เดินทางไปรับการฝึกอบรมเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ Belding Scribner ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา หลังจากประสบความสำเร็จร่วมกับทีมแพทย์ในสหรัฐฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์รจิตฯ ได้เดินทางกลับประเทศไทยและนำเครื่องไตเทียมมาเริ่มให้การรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยครั้งแรกที่ ร.พ.ศิริราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการพัฒนาการรักษาโรคไตในประเทศไทย มีการเปิดการผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งแรกที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และ ร.พ.ศิริราชเริ่มมีการใช้การรักษาผู้ป่วยไตวายด้วยการฟอกล้างช่องท้องถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis หรือ CAPD) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ วงการแพทย์ในประเทศไทยให้ความสนใจโรคไตและมีการขยายงานรักษาผู้ป่วยด้วยโรคไตอย่างต่อเนื่องกว้างขวางตลอดมา จนในปัจจุบันนี้ ข้อมูลของสมาคมโรคไตรวบรวมในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พบว่าทั่วประเทศไทยมีศูนย์การแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคไตประมาณ ๓๕๐ แห่ง แต่อย่างไรก็ตามพบว่าร้อยละ ๔๒ (๑๔๘ แห่ง) ของศูนย์ไตเทียมเหล่านี้อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดในปริมณฑลอันได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ส่วนที่เหลือกระจายตัวในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ในจำนวนศูนย์โรคไตทั้งหมดสามารถให้การรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ แต่มีเพียง ๕๑ แห่ง ที่มีบริการฟอกล้างช่องท้องถาวร และมีเพียง ๒๔ แห่งที่มีบริการปลูกถ่ายไต
นอกจากนั้นพบว่าครึ่งหนึ่งของศูนย์โรคไตทั้งหมดของประเทศเท่านั้นที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐ ในแง่บุคลากรการแพทย์ พบว่ามีแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรและอนุมัติบัตรเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านโรคไตจากแพทย์สภารวมกันทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น ๒๔๗ คน มีพยาบาลผู้ได้รับประกาศนียบัตรเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคไตจากสมาคมโรคไต จำนวนทั้งสิ้น ๔๕๓ คน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามีแพทย์พยาบาลเหล่านี้เพียงประมาณร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่กระจายตัวปฏิบัติงานในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตในต่างจังหวัดยังมีจำนวนแพทย์ พยาบาล ที่มีความรู้ความชำนาญด้านโรคไตยังไม่เพียงพอ ข้อมูลจากสมาคมโรคไตในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ยังพบว่าในส่วนภูมิภาค ยังมีอีก ๓๘ จังหวัดในประเทศไทยที่ยังไม่มีแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านโรคไตปฏิบัติงานอยู่
คณะอนุกรรมการลงทะเบียนรักษาทดแทนไตของสมาคมโรคไตยังได้รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาและมีชีวิตรอดทั่วประเทศไทยจนถึงวันสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ พบว่ามีจำนวนผู้เข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากถึง ๑๒,๖๑๔ คน มีผู้ป่วยฟอกล้างช่องท้องถาวรจำนวน ๗๒๙ คน และมีผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน ๑๕๔๒ คน รวมทั้งสิ้นคิดเป็นสัดส่วนผู้รับการรักษาทั้งสามวิธีเท่ากับ ๒๓๖ รายต่อประชากรล้านคน และหากดูจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ทั้งหมดพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นมากถึง ๗,๘๗๑ รายต่อปีคิดเป็น ๑๒๕ รายต่อประชากรล้านคน ตัวเลขเหล่านี้คาดว่ายังมีอีกสามเท่าตัวที่เป็นโรคไตวายเช่นกันแต่ไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากเบิกค่ารักษาไม่ได้และต้องเสียชีวิตไปเนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่ารักษาด้วยตนเอง และหากจะลองคำนวณค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไตวายโดยคิดค่ารักษาเฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน ก็จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยซึ่งแม้จะมีเพียงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน แต่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมากถึงปีละอย่างน้อย ๓๖๐๐ ล้านบาท ผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิตลงเพียงร้อยละ ๑๐-๒๐ ต่อปี แต่มีการเพิ่มจำนวนเข้ามาใหม่มากถึงร้อยละ ๕๐ ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่รวมผู้ที่เสียชีวิตไปก่อนเนื่องจากไม่มีค่ารักษา และแน่นอนว่าหากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเป็นโรคไตวาย คงไม่มีใครอยากถูกทอดทิ้งให้ตายเพราะไม่มีค่ารักษาพยาบาล ข้อมูลของสมาคมโรคไตฯ จึงสะท้อนถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ในการให้การป้องกันการเจ็บป่วยอันเป็นเหตุให้เกิดโรคไตวายซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อตัวผู้ป่วย ต่อครอบครัว และต่อสังคมของทั้งประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: