วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต คือการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการใช้ไตจากผู้อื่น (ซึ่งผ่านการตรวจแล้วว่าสามารถเข้ากันได้) ให้มาทำหน้าที่แทนไตเก่าของผู้ป่วยที่สูญเสียหน้าที่ไปอย่างถาวรแล้ว ปัจจุบันถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากถ้าไตใหม่ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว สามารถทดแทนไตเดิมได้สมบูรณ์ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น รวมทั้งอายุที่ยืนยาวกว่าการรักษาทดแทนไตโดยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือด หรือการล้างไตทางผนังหน้าท้อง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับการได้รับชีวิตใหม่
วิธีการปลูกถ่ายไต คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทาน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตเสียและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ขั้นตอนของการปลูกถ่ายไต
- แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยไตวานเรื้อรังระยะสุดท้าย
- ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางหัวใจ ตรวจสภาพจิตใจ
- เจาะเลือดตรวจหน้าที่ของไต / ตับ / ตับอักเสบ บี -ซี / ซิฟิลิส / เอช ไอ วี
- ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA Matching)
-การลงทะเบียนรอ ( Waiting list)
-ส่งเลือดตรวจทุก 2 เดือน (ตรวจหาภูมิคุ้มกัน)/ตรวจร่างกายทุก 2-3 เดือน
- การลงทะเบียนรอ พร้อมรับการเปลี่ยนถ่าย (Active waiting list)

การเตรียมตัวของผู้ที่จะปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย ระหว่างที่รอการปลูกถ่ายไตต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะไตที่รอคอยนั้น อาจจะมาเมื่อใดก็ได้โดยที่เราจะไม่คาดคิด ความพร้อมทางร่างกายนั้นต้องตรวจเช็คอวัยวะทุกระบบในตัวว่าแข็งแรงพอที่จะทนการผ่าตัดได้หรือไม่ และสามารถรับการรักษาด้วยยากดภูมิต้านทานได้ ผู้ป่วยจะต้องไม่เป็นผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ผลการเปลี่ยนไตจึงจะได้คุ้มค่า

มีการตรวจอะไรบ้าง ที่ควรทำในระหว่างการรอปลูกถ่ายไต

ระบบต่างๆของร่างกายที่ต้องตรวจเช็ค คือ ระบบหัวใจ / ตับ / ปอด / สมอง / ระบบเส้นเลือด และความดันโลหิต
- หัวใจที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ควรได้รับการแก้ไขก่อนที่จะผ่าตัดเปลี่ยนไต
- ตับที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิด บี/ ซี ที่ยังไม่สงบ ควรได้รับการรักษาให้เรียบร้อยก่อน มิฉะนั้นแล้วหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต เชื้อไวรัสอาจกำเริบและเพื่มจำนวนมากเป็นทวี เพราะหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต ผู้ป่วยต้องรับประทานยาประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ง่าย ทำให้เกิดเลือดออกจากแผลในกระเพาะได้
- ระบบเลือด ควรดูเกล็ดเลือดและตรวจดูการแข็งตัวของเลือด เพราะถ้าเลือดหยุดยากอาจจะทำให้เสียเลือดมากในระหว่างการผ่าตัด ควรแก้ไขก่อนทำก่รผ่าตัด การตรวจดูเส้นเลือดที่จะนำไตใหม่ไปต่อมีความจำเป็น ในบางรายที่มีสภาพของเส้นเลือดแข็งและมีแคลเซี่ยมไปเกาะอยู่ที่ผนังเส้นเลือด ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุและโรคผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง

ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA Matching)

การทำแม็ชชิ่ง คือการเจาะเลือดของผู้รอรับไตมาผสมกับเซลล์ของผู้บริจาคไต เพื่อดูว่าเข้ากันได้หรือไม่ จะเกิดปฏิกริยาต่อต้านรุนแรงหรือไม่ถ้าใส่ไตนี้เข้าไปในตัวของผู้รับ การทำแม็ชชิ่งจำเป็นต้องทำทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ก่อน

ผู้บริจาค (Donor)

ไตที่นำมาใช้ปลูกถ่ายได้มาจาก 2 แหล่งคือจากคนบริจาคที่ยังมีชีวิต (Living Donor) และจากคนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว (Cadaveric Donor)

1. คนบริจาคที่ยังมีชีวิต

ตามกฏหมายของแพทยสภาที่ประเทศไทยถือปฏิบัติอยู่ คนบริจาคที่มีชีวิตต้องเป็นญาติโดยทางสายเลือด, สามีหรือภรรยา ซึ่งรวมถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน และญาติ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นญาติโดยทางสายเลือดอย่างแท้จริง ทั้งทางด้านการแพทย์และหรือทางด้านกฏหมาย สำหรับสามี/ภรรยาที่จะบริจาคไตให้คู่ครองของตน จะต้องแต่งงานโดยมีทะเบียนสมรสมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และ/หรือมีลูกสืบสกุลที่เกิดจากสามีภรรยาคู่นั้น ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคควรมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันหรือเป็นกรุ๊ปเลือดที่เข้ากันได้ และผลการทดสอบเข้ากันได้ของเลือดจะต้องไม่มีปฏิกริยาต่อต้านกัน

ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจ ปัสสาวะ อัลตราซาวน์ ตรวจคลื่นหัวใจอย่างละเอียด เพื่อให้มีความแน่ชัดว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ผู้บริจาคต้องมีความเข้าใจในเรื่องการบริจาค มีความตั้งใจ เต็มใจ ที่จะช่วยเหลืออย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากอามิสสินจ้างตอบแทน ภายหลังการบริจาคไต ผู้บริจาคไตจะเหลือไตเพียงข้างเดียว เพียงพักฟื้น 2-4 สัปดาห์ ก็จะสามารถทำงานได้ตามปกติ ผู้บริจาค
จะยังคงมีสุขภาพปกติ แข็งแรงเหมือนคนที่มีไต 2 ข้างตามปกติ สามารถทำงาน ออกกำลังกาย เดินทาง และมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติ เพียงแต่ควรระมัดระวังดูแลไตที่เหลือไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนต่อไต

2. คนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

หมายถึง ผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือตายแล้ว การตายนี้ได้รับการพิสูจน์และยืนยันโดยคณะแพทย์ และญาติผู้ตายแสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของผู้ตายคนนั้น ขั้นตอนในการวินิจฉัยการตายและการรับบริจาคอวัยวะ ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของแพทยสภาและของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยอย่างเคร่งครัด แพทย์ในประเทศไทยสามารถให้การวินิจฉัยการตายของคนไข้ได้ โดยยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยแพทยสภาเมื่อแพทย์ตรวจพบว่าคนไข้มีแกนสมองไม่ทำงานอย่างถาวร โดยมีสาเหตุที่ชัดเจน ถือว่าแกนสมองตาย ถือว่าสมองตาย จึงจะถือว่าเป็นการตายที่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าหัวใจยังเต้นอยู่ก็ตาม ญาติของผู้ตายในลักษณะนี้ควรและสามารถแสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะของผู้ตายได้

การเสียชีวิตที่ชัดเจนแบบข้างต้น ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และมีการบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรงและถาวร หรืออาจจะมาจากผู้เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกและสมองถูกทำลายอย่างรุนแรงถาวร เมื่อไตที่บริจาคถูกนำออกจากร่างกายของผู้บริจาคแล้ว ถ้าได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ก็สามารถเก็บได้นานถึง 48 ชม.

การรอปลูกถ่ายไต

การรอปลูกถ่ายไต จะนานแค่ไหน คงจะบอกยาก ขึ้นอยู่กับโชคและดวงเสียส่วนหนึ่ง ที่ว่าคือผู้บริจาคไตนั้นมีเนื้อเยื่อที่คล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่รอรับมากน้อยแค่ไหน บางท่านอาจรอเพียงไม่กี่เดือน ส่วนบางท่านอาจต้องรอเป็นปีๆ ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย 2-3 ปี

การผ่าตัดเปลี่ยนไต

จะถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ โดยเมื่อได้ไตมาแล้ว จะนำมาต่อเข้ากับเส้นเลือดของร่างกายบริเวณหน้าท้องน้อยซึ่งโดยปกติแล้วถือว่าไม่ยากนัก และขนาดก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ หลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องแยกเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ไม่จำเป็นต้องเป็นไอซียู อาจเป็นหอผู้ป่วยที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือห้องเดี่ยวก็ได้แต่ต้องใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อเป็นกรณีพิเศษ เพราะผู้ป่วยในระยะแรกจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปฏิกริยาต่อต้านอวัยวะของร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะไปทำให้ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อลงลง ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อจากญาติ หรือผู้มาเยี่ยมได้ง่ายกว่าคนปกติ จึงต้องมรกฏป้องกันเอาไว้เพื่อผู้ป่วยเองจะค่อยๆลดยากดภูมิต้านทานลง จนไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างใด อาจใช้ระยะเวลาในโรงพยาบาลระหว่าง 2-6 สัปดาห์

การพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาล

หลังออกจากโรงพยาบาล แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยทำงานเบาๆที่ไม่มีความเสี่ยงไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรืองานที่จะเสี่ยงจากโรคที่จะได้รับจากบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการติดเชื้อเช่น ไข้หวัด โรคปอด หรือแผลเป็นหนองสามารถนอนกับสามีภรรยาได้ตามปกติ แพทย์จะแนะนำให้กลับไปทำงานได้หลังจาก 1 เดือน ถ้าไม่มีอะไรแทรกซ้อน ค่อยๆออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อฝึกฝนและเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านที่ฝึกฝนจนสามารถแข่งขันกีฬาแทบทุกชนิดได้

การใช้ยาหลังการปลูกถ่ายไต

ยาที่ใช้หลังการผ่าตัดมีอยู่หลายกลุ่ม เพื่อจุดประสงค์ต่างๆกัน เช่น
- ยากดภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสลัดไต (Acute rejection)
- ยาที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากได้ยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง จะมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติยาป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ จะให้ไปอย่างน้อย 3 เดือน และอาจจะต้องให้ซ้ำถ้ามีภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกดอย่างมาก โดยเฉพาะหลังได้รับยารักษาภาวะสลัดไต
- ยารักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่นยารักษาเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยารักษาความดันโลหิต สูง ยาลดไขมัน ยาลดบวม ยาที่เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ยาที่เพิ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงในภาวะโลหิตจาง
- ยาวิตามินเพื่อเสริมสร้างบำรุงร่างกาย

โอกาสประสพความสำเร็จในการปลูกถ่ายไต

ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายไตขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือชนิดของไตที่ได้รับ ดังนี้
ไตจากผู้มีชีวิต ผลสำเร็จใน 1 ปี ประมาณ 95%
ผลสำเร็จใน 5 ปี ประมาณ 90 %
ไตจากผู้เสียชีวิต ผลสำเร็จใน 1 ปี ประมาณ 85 %
ผลสำเร็จใน 5 ปี ประมาณ 70 %

สาเหตุที่ทำให้ไตหลังการปลูกถ่ายเสื่อม มีดังนี้
- การรับประทานยาไม่สมำเสมอ ลืมทาน ทานมากเกิน ทานยาน้อยไป
- การกำเริบของโรคไตเดิม
- การต่อต้านไตแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง
- การติดเชื้อโรคในไต
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต หากไตไม่ทำงานไม่ว่าจะเกิดจากการต่อต้านแบบเฉียบพลัน หรือเกิดจากเทคนิคการผ่าตัดจนไตเสียแล้วนั้น จำเป็นต้องผ่าเอาไตออก แต่ถ้าไตทำงานไปได้นานแล้ว และเกิดการเสื่อมอย่างช้าๆ อย่างเรื้อรังจนไม่ทำงานไปในที่สุด ในกรณีหลังนี่ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าเอาไตออก

ภาวะแทรกซ้อนหลังการเปลี่ยนไต

๑. ไตไม่ทำงานทันที ที่ใส่เข้าไปในร่างกาย : ป้องกันได้ด้วยการตรวจการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อให้ถูกต้องก่อนทำการปลูกถ่ายไต
๒. การสลัดไตอย่างเฉียบพลัน : มีประมาณ ๒๐-๔๐ % ในปีแรก ขึ้นกับชนิดของยาที่ใช้กดภูมิต้านทานอวัยวะที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาสเตียรอยด์ ซึ่งไม่แพงมากนัก มีจำนวนน้อยที่ต้องใช้ยาที่มีราคาแพงเพื่อควบคุมการสลัดไต
๓. การสลัดไตอย่างเรื้อรัง : คือการเสื่อมสภาพของไตอย่างช้าๆ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยเด็ดขาด แต่สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยการควบคุมโรคที่อาจเกิดร่วมด้วยให้ดี เช่น ความดันโลหิต ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และต้องกินยาลดภูมิต้านทานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสลัดไตอย่างเฉียบพลัน ซึ่งจะมีผลทำให้ไตมีอายุยืนยาวขึ้น
๔. การติดเชื้อจากเชื้อทั่วไป : หลังการปลูกถ่ายไต ภูมิต้านทานร่างกายจะลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายจากเชื้อทั่วๆไป เช่น ปอดบวม กรวยไตอักเสบ หรือจากเชื้อพวกฉวยโอกาส เช่น ไวรัส CMV , Herpes, EB virus เชื้อรา เชื้อพยาธิ วัณโรค และอาจต้องกินยาเพื่อป้องกันพวกเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ด้วยในระยะแรกหลังการผ่าตัด
๕. มะเร็ง : หลังการปลูกถ่าย ภูมิต้านทานร่างกายลดลง ทำให้เกิดโอกาสเกิดมะเร็งได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ได้รับการปลูกถ่ายและรับทานยาลดภูมิต้านทานมานานแล้ว มะเร็งที่มักพบได้บ่อยได้แก่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งของไตเก่า
๖. ภาวะแทรกซ้อนความดันโลหิตสูง : อาจเป็นจากโรคที่มีมาก่อนการผ่าตัด หรือเกิดจากยาที่ใช้ในการลดภูมิต่อต้านอวัยวะ เช่น เพร็ดนิโซโลน นีโอรัล หรือ โปรกราฟ ก็มีส่วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
๗. โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน : ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าบุคคลทั่วไป อาจเพราะมีโอกาสมากที่มีความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดห้วใจตีบตัน
๘. เบาหวาน : ยาเพร็ดนิโซโลน และโปรกราฟ ทำให้มีโอกาสเกิดเบาหวานได้ง่ายขึ้น หรือเบาหวานที่เป็นอยู่แล้วควบคุมได้ยากขึ้น
๙. ไขมันในโลหิตสูง : พบได้สูง 50-80% และอาจเกิดจากการใช้ยาเพร็ดนิโซโลน และนีโอลัล ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ยาลดไขมันจำพวกกลุ่ม สตาติน เช่น ลิปิตอร์ หรือ โซคอร์
๑๐. กระดูกผุกร่อน : ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย มักมีภาวะกระดูกขาดแคลเซี่ยมอยู่แล้ว เมื่อได้รับยาเพร็ดนิโซโลนก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกผุได้ง่าย บางรายอาจถึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวกระดูกตะโพกก็มีแผลในกระเพาะอาหาร ยาเพร็ดนิโซโลน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับยาลดกรดในกระเพาะร่วมด้วย
๑๑. ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการลดภูมิต้านทานอวัยวะแปลกปลอม :
ยาแต่ละตัวจะมีผลข้างเคียงต่างๆ กัน และไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับทุกคน
นีโอรัล ขนขึ้นตามหน้าและตัว เหงือกหนาขึ้น พิษต่อไต ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคสูง ความดันโลหิตสูง
โปรกราฟ พิษต่อไต เบาหวาน มือสั่น ผมร่วง
เพร็ดนิโซโลน สิว หน้ากางขึ้น น้ำหนักขึ้น แผลในกระเพาะ เบาหวานลงไต โรคตับอักเสบเรื้อรัง กระดูกพรุน

ข้อควรและไม่ควรปฏิบัติหลังได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว

ผู้ป่วยที่ปลูกไตแล้ว สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ควรเลือกลักษณะงานที่เหมาะสม งานที่สกปรก สิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด อับชื้น ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- ควรบอกนายจ้างให้ทราบ เพื่อจะได้จัดงานที่เหมาะสมให้ จัดการประกันสุขภาพตามสิทธิ
- ไม่ควรออกแรง ทำงานหักโหมจนเกินไป ผักผ่อนเท่าที่จำเป็น
- การไปเที่ยว ควรเลือกสถานที่ สิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย ควรมีโรงพยาบาลที่เข้าถึงได้ง่าย
- สามารถขับขี่ยานพาหนะได้ตามปกติ
- สามารถมีลูกได้ตามปกติ สำหรับหญังอาจมีปัญหาในการตั้งครรภ์ได้
- สามารถเล่นกีฬา ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่อย่าให้หักโหมจนเกินไป

ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าผลที่ได้ดี ผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดีถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่น นอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้น ในการปลูกถ่ายไตแพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ ว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลจะไม่ดีและในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้ สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไตทุกระยะ จากประสบการณ์ในการรักษาที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่าผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีและรักษาใจของตนเองได้ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด ผลการรักษามักจะดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้โรคที่เป็นจะรุนแรงหรือแม้จะทุพพลภาพ การรักษาใจร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีความสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ควรให้ความสำคัญและช่วยกันทำเพื่อผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่

ไม่มีความคิดเห็น: