วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

การป้องกันโรคไต

การป้องกันโรคไต
ผู้ที่จะเกิดโรคไตวาย แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตอยู่แล้ว กลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคซ่อนอยู่แต่ไม่รู้ตัว บางท่านรู้สึกว่าตนมีสุขภาพแข็งแรง ในขณะที่บางท่านกินยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้เป็นประจำ
ในกลุ่มแรก ท่านคงต้องมาพบแพทย์เป็นประจำ เป้าหมายของการรักษาที่แพทย์แจ้งให้ท่านทราบมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่มีความดันโลหิตสูง จะต้องดูแลตนเองให้ระดับความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวาน ท่านจะต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าอยู่ในระดับ 90-130 มก.% การดูแลตนเองและใช้ยาให้ได้ผลตามเป้าที่แพทย์และพยาบาลแนะนำจะมีผลช่วยป้องกันการเกิดโรคไตวายได้
ในกลุ่มที่ 2 ท่านที่รู้สึกว่า ตนเองสุขภาพดี ไม่เคยเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล บางท่านเป็นนักกีฬา เหล่านี้ไม่ได้รับประกันว่าท่านจะไม่เป็นโรคไต แม้ท่านจะไม่มีอาการใดๆเลยก็ตาม ท่านก็อาจจะมีโรคไตซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้วก็เป็นได้ ทางที่ดีท่านลองพิจารณาคำแนะนำดังต่อไปนี้ ได้แก่
1. วิธีที่ดีที่สุด คือ ท่านควรจะไปรับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะรวมการตรวจสุขภาพไตขั้นต้น 3 ประการ ได้แก่ วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดหาระดับ “ครีอะตินีน” ผลการตรวจจะบอกได้ขั้นต้นว่าท่านมีโรคไตซ่อนอยู่หรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติแม้เล็กน้อยก็ตาม แพทย์ก็จะแนะนำให้ท่านรับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อวินิจฉัย
2. สนใจสุขภาพตนเอง รับประทานอาหารที่มีคุณค่า ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้พอเพียง ถ้าท่านมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อโรคไต ท่านควรจะหลีกเลี่ยง ซึ่งที่สำคัญๆ ได้แก่ การงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงสุรา ออกกำลังกาย ดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง เป็นต้น
3.ถ้าร่างกายท่านแสดงสัญญาณอันตรายบอกโรคไตอันใดอันหนึ่ง (ดูตารางที่ 1) ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ ซึ่งอาจพบว่า ท่านไม่มีโรคใดๆเลยก็ได้ หรือบางท่านอาจมีความผิดปกติของไตเล็กน้อย การรักษาก็แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เพียงพอ ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ ถ้าทิ้งไว้นานโดยไม่ทำอะไร ก็อาจเกิดโรคไตเรื้อรังได้


ตารางที่ 1 แสดงสัญญาณอันตรายบอกโรคไต 6 ประการ
• ปัสสาวะขัด
• ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ
• ปัสสาวะบ่อย
• บวมหน้า บวมเท้า
• ปวดหลัง ปวดเอว
• ความดันโลหิตสูง

4. ระวังอย่าให้เกิดท้องเสีย โดยกินเฉพาะอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ถ้าเกิดท้องเสียท่านจะต้องได้รับน้ำทดแทนอย่างพอเพียง ถ้าท่านมีโรคไตเรื้อรังอยู่แล้ว การที่เกิดท้องเสียจนทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงและเกิดไตวายเฉียบพลันได้ และบ่อยครั้งไตที่วายแล้วไม่ฟื้นกลับอีกเลย
5. หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเองเป็นประจำ ปัจจุบัน การแพทย์ยุคใหม่ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง การซื้อยาง่ายๆรักษาตนเอง อาทิ โรคหวัด ปวดหัว ท่านซื้อยากินเองได้ แต่ต้องทราบว่า กิน 1 ชุดแล้วไม่หาย ท่านต้องไปพบแพทย์ เพราะโรคที่ท่านคิดว่าตนเองเป็น อาจจะมีสาเหตุอื่นๆ ที่แพทย์ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม
นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่พบว่า ท่านที่เป็นโรคเรื้อรังบางโรคที่ไม่น่าจะเป็นโรคไต อาทิ โรคผิวหนัง โรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน ท่านที่ซื้อยากินเอง กินยาที่ไม่ทราบสรรพคุณ เชื่อตามคำโฆษณา เมื่อกินเข้าไปมากๆ แล้ว ทำให้เกิดไตอักเสบ จนเป็นไตวายเรื้อรัง สุดท้ายโรคที่มีอยู่ก็ไม่หาย แถมเกิดโรคไตวายเพิ่ม
6. การกินยาซ้ำซ้อน
มียาหลายอย่างที่แพทย์จ่ายให้ผู้ป่วย ได้แก่ โรคปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ ยาที่จ่ายอาจมียากลุ่มหนึ่งที่ท่านควรจะรู้จัก ได้แก่ “ยาเอ็นเสด” ซึ่งเป็นยาลดอักเสบฤทธิ์แรงมาก กินแล้วอาการปวดมักจะทุเลาลง แต่การทุเลาจะเป็นเพียงชั่วคราว เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ หลังหมดฤทธิ์ยา ผู้ป่วยจะกลับมาปวดได้อีก โดยทั่วไป แพทย์จะพยายามแก้ไขต้นเหตุอยู่แล้ว
ท่านที่เป็นผู้ป่วยโรคปวดต่างๆ ท่านควรจะถามแพทย์ว่า ยาที่ท่านได้มี “ยาเอ็นเสด” หรือไม่ และถ้ามีท่านต้องทำตัวอย่างไร ท่านที่ไปหาแพทย์หลายคลินิก บางครั้งท่านอาจจะได้รับยาแก้ปวดคล้ายๆกันแต่คนละยี่ห้อ และถ้ากินเข้าไปพร้อมกันจะมีผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพไต ซึ่งหลักอันหนึ่งที่แพทย์มักจะต้องเตือนท่าน คือยาเก่าอย่าเก็บไว้ ยกเว้นแต่ได้นำไปให้แพทย์ตรวจดูและบอกว่ากินต่อไปได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ท่านต้องทราบว่า คนธรรมดาทั่วไปจะไม่ต้องกินยาเป็นประจำ นอกจากมีโรคที่ต้องรักษา ดังนั้น การที่ท่านต้องกินยาโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นโรคใด ท่านควรจะถามแพทย์ที่ดูแลท่านว่าท่านเป็นโรคใด และจะต้องกินนานเพียงไร แน่นอน โรคบางโรคอาจต้องกินยาประจำตลอดชีวิต แต่บางโรคพออาการหายแล้วต้องหยุดยา
ปัจจุบัน พบว่ามีผู้ป่วยบางรายพอกินยาหมด อาการยังไม่หาย กลับนำซองยาเปล่าที่ได้จากแพทย์ไปซื้อกินเอง ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังจากยา ที่น่ากลัวคือ โรคไตจากยานี้เป็นโรคแบบเงียบๆผู้ป่วยเองไม่มีทางทราบได้ว่าเกิดโรคในระยะแรกเริ่มถ้าไม่ได้รับการตรวจ ผู้ป่วยจะมาหาแพทย์อีกทีก็เกิดโรคไตวายแล้ว ทั้งที่ผู้ป่วยเดิมเป็นโรคที่รักษาได้ดังเช่นโรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน ซึ่งปรับวิธีการทำงานใหม่ก็จะทุเลาไปได้เอง
7. หลีกเลี่ยงยาเสพติดต่างๆ โดยเฉพาะต้องงดการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและทำให้ไตเสื่อมเร็ว
8. อย่าหลงคำโฆษณา ในท้องตลาดมีการขายสารอาหารต่างๆมากมายเพื่อบำรุงร่างกาย อาหารเสริมเหล่านี้ ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ได้จัดเป็นอาหาร ไม่ใช่ยา ดังนั้น สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนซื้อ ในส่วนอาหารเสริมเหล่านี้ อย. ได้รับรองแล้วว่าท่านสามารถซื้อกินได้โดยไม่เกิดโทษ แต่ทางที่ดีก่อนท่านจะซื้อ ท่านควรจะอ่านฉลากอาหารที่แนบไว้ด้วยว่า อาหารเสริมมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังประการใดบ้าง ต้องระวังในผู้ที่โรคบางโรคหรือไม่ อาหารเสริมบางอย่างมีเกลือผสมอยู่มาก ทำให้เกิดโทษได้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ พบว่า มีการโฆษณาเกินจริงของอาหารหรือสารบางอย่างว่าสามารถรักษาโรคไตอ่อนแอได้ คำโฆษณาเหล่านี้ ฟังดูน่าสนใจ เชื่อว่าผู้ป่วยที่มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้วโดยเฉพาะท่านที่มีโรคที่แพทย์บอกว่ารักษาไม่มีทางหาย ท่านต้องอยากหายแน่นอน ทุกท่านอยากได้พบกับยาวิเศษ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า สารหรืออาหารวิเศษที่ประกาศขายตามหนังสือรายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์นั้น ไม่มีใครรับรองสรรพคุณ ถ้าเป็นยาดีจริง ทำไมไม่มีขายในโรงพยาบาล และถ้ายาเหล่านี้ดีจริง แพทย์จะต้องรีบจ่ายยาเหล่านี้ให้กับท่าน ทำไมต้องขายทางไปรษณีย์ที่ท่านไม่มีทางรู้จักผู้ขายเลย ท่านต้องส่งเงินหรือโอนเงินไปให้ ผลจากการหลงเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคไตวายเรื้อรังมาแล้วนับไม่ถ้วน
โดยสรุป การดูแลไตให้มีสุขภาพดีทำได้ไม่ยาก ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเคล็ดลับสำหรับท่านที่ไม่ต้องการเป็นโรคไตวาย หรืออย่างน้อยถ้าทำได้ ก็จะช่วยยืดอายุไตของท่านออกไปอีกยาวนาน

สถานการณ์การรักษาโรคไตโดยวิธีฟอกเลือด

สถานการณ์การรักษาโรคไตโดยวิธีฟอกเลือด ฟอกล้างของเสียออกทางช่องท้องและปลูกถ่ายไตในปัจจุบัน
เมื่อไตเป็นโรครุนแรงจนเสียการทำงาน มีสมรรถภาพไตเหลือน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของคนปกติ ก็ก่อให้อาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจนจากการมีของเสียคั่งในร่างกาย ของเสียเหล่านี้มาจากกระบวนการเผาผลาญอาหารที่รับประทานเป็นส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดอาการโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อยลง อาการบวมซึ่งเมื่อรุนแรงมากขึ้นก็มีอาการหอบ เหนื่อย นอนราบไม่ได้ ระยะท้ายกระตุก ซึม หมดสติ และอาจมีอาการชัก โดยทั่วไปเมื่อไตหยุดการทำงานและไม่มีการฟื้นตัวของสมรรถภาพไตอีก ผู้ป่วยก็ยังมีชีวิตต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วยความทุกข์ทรมานและที่สุดก็เสียชีวิตไปในเวลาไม่กี่สัปดาห์
วงการแพทย์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีการปลูกถ่ายไตครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมามีการใช้เครื่องไตเทียมฟอกเลือด (hemodialysis) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และมีการพัฒนาวิธีการฟอกล้างของเสียออกทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ การรักษาโรคไตทั้งสามวิธีจัดว่าเป็นการรักษาเพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองอย่างเพียงพอ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่รอดอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร เป็นความมหัศจรรย์ในทางการแพทย์ แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรมอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์เมื่อพบว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ช่วยชีวิตได้แต่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในปัจจุบันแต่ละวิธีทั้งสามวิธีต้องใช้ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้ที่ป่วย รวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้องไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นจำนวนมากไม่ได้รับการรักษา ปัจจุบันในประเทศไทย ผู้ที่ป่วยที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้างของราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งครอบครัว และ ผู้ที่มีประกันสังคมเท่านั้นที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาด้วยวิธีรักษาทดแทนไตทั้งสามวิธี ส่วนผู้ที่ใช้บัตรทองยังไม่สามารถเบิกค่ารักษาด้วยวิธีดังกล่าว แต่ข่าวดีก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานโครงการ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” กำลังทุ่มเทความพยายามที่จะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์รจิต บุรี เป็นอายุรแพทย์โรคไตและเป็นอดีตเสรีไทยสายยุโรปผู้มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เอกราชของประเทศในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านได้เดินทางไปรับการฝึกอบรมเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ Belding Scribner ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา หลังจากประสบความสำเร็จร่วมกับทีมแพทย์ในสหรัฐฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์รจิตฯ ได้เดินทางกลับประเทศไทยและนำเครื่องไตเทียมมาเริ่มให้การรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยครั้งแรกที่ ร.พ.ศิริราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการพัฒนาการรักษาโรคไตในประเทศไทย มีการเปิดการผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งแรกที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และ ร.พ.ศิริราชเริ่มมีการใช้การรักษาผู้ป่วยไตวายด้วยการฟอกล้างช่องท้องถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis หรือ CAPD) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ วงการแพทย์ในประเทศไทยให้ความสนใจโรคไตและมีการขยายงานรักษาผู้ป่วยด้วยโรคไตอย่างต่อเนื่องกว้างขวางตลอดมา จนในปัจจุบันนี้ ข้อมูลของสมาคมโรคไตรวบรวมในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พบว่าทั่วประเทศไทยมีศูนย์การแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคไตประมาณ ๓๕๐ แห่ง แต่อย่างไรก็ตามพบว่าร้อยละ ๔๒ (๑๔๘ แห่ง) ของศูนย์ไตเทียมเหล่านี้อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดในปริมณฑลอันได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ส่วนที่เหลือกระจายตัวในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ในจำนวนศูนย์โรคไตทั้งหมดสามารถให้การรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ แต่มีเพียง ๕๑ แห่ง ที่มีบริการฟอกล้างช่องท้องถาวร และมีเพียง ๒๔ แห่งที่มีบริการปลูกถ่ายไต
นอกจากนั้นพบว่าครึ่งหนึ่งของศูนย์โรคไตทั้งหมดของประเทศเท่านั้นที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐ ในแง่บุคลากรการแพทย์ พบว่ามีแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรและอนุมัติบัตรเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านโรคไตจากแพทย์สภารวมกันทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น ๒๔๗ คน มีพยาบาลผู้ได้รับประกาศนียบัตรเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคไตจากสมาคมโรคไต จำนวนทั้งสิ้น ๔๕๓ คน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามีแพทย์พยาบาลเหล่านี้เพียงประมาณร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่กระจายตัวปฏิบัติงานในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตในต่างจังหวัดยังมีจำนวนแพทย์ พยาบาล ที่มีความรู้ความชำนาญด้านโรคไตยังไม่เพียงพอ ข้อมูลจากสมาคมโรคไตในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ยังพบว่าในส่วนภูมิภาค ยังมีอีก ๓๘ จังหวัดในประเทศไทยที่ยังไม่มีแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านโรคไตปฏิบัติงานอยู่
คณะอนุกรรมการลงทะเบียนรักษาทดแทนไตของสมาคมโรคไตยังได้รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาและมีชีวิตรอดทั่วประเทศไทยจนถึงวันสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ พบว่ามีจำนวนผู้เข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากถึง ๑๒,๖๑๔ คน มีผู้ป่วยฟอกล้างช่องท้องถาวรจำนวน ๗๒๙ คน และมีผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน ๑๕๔๒ คน รวมทั้งสิ้นคิดเป็นสัดส่วนผู้รับการรักษาทั้งสามวิธีเท่ากับ ๒๓๖ รายต่อประชากรล้านคน และหากดูจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ทั้งหมดพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นมากถึง ๗,๘๗๑ รายต่อปีคิดเป็น ๑๒๕ รายต่อประชากรล้านคน ตัวเลขเหล่านี้คาดว่ายังมีอีกสามเท่าตัวที่เป็นโรคไตวายเช่นกันแต่ไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากเบิกค่ารักษาไม่ได้และต้องเสียชีวิตไปเนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่ารักษาด้วยตนเอง และหากจะลองคำนวณค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไตวายโดยคิดค่ารักษาเฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน ก็จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยซึ่งแม้จะมีเพียงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน แต่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมากถึงปีละอย่างน้อย ๓๖๐๐ ล้านบาท ผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิตลงเพียงร้อยละ ๑๐-๒๐ ต่อปี แต่มีการเพิ่มจำนวนเข้ามาใหม่มากถึงร้อยละ ๕๐ ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่รวมผู้ที่เสียชีวิตไปก่อนเนื่องจากไม่มีค่ารักษา และแน่นอนว่าหากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเป็นโรคไตวาย คงไม่มีใครอยากถูกทอดทิ้งให้ตายเพราะไม่มีค่ารักษาพยาบาล ข้อมูลของสมาคมโรคไตฯ จึงสะท้อนถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ในการให้การป้องกันการเจ็บป่วยอันเป็นเหตุให้เกิดโรคไตวายซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อตัวผู้ป่วย ต่อครอบครัว และต่อสังคมของทั้งประเทศ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต คือการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการใช้ไตจากผู้อื่น (ซึ่งผ่านการตรวจแล้วว่าสามารถเข้ากันได้) ให้มาทำหน้าที่แทนไตเก่าของผู้ป่วยที่สูญเสียหน้าที่ไปอย่างถาวรแล้ว ปัจจุบันถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากถ้าไตใหม่ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว สามารถทดแทนไตเดิมได้สมบูรณ์ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น รวมทั้งอายุที่ยืนยาวกว่าการรักษาทดแทนไตโดยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือด หรือการล้างไตทางผนังหน้าท้อง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับการได้รับชีวิตใหม่
วิธีการปลูกถ่ายไต คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทาน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตเสียและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ขั้นตอนของการปลูกถ่ายไต
- แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยไตวานเรื้อรังระยะสุดท้าย
- ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางหัวใจ ตรวจสภาพจิตใจ
- เจาะเลือดตรวจหน้าที่ของไต / ตับ / ตับอักเสบ บี -ซี / ซิฟิลิส / เอช ไอ วี
- ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA Matching)
-การลงทะเบียนรอ ( Waiting list)
-ส่งเลือดตรวจทุก 2 เดือน (ตรวจหาภูมิคุ้มกัน)/ตรวจร่างกายทุก 2-3 เดือน
- การลงทะเบียนรอ พร้อมรับการเปลี่ยนถ่าย (Active waiting list)

การเตรียมตัวของผู้ที่จะปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย ระหว่างที่รอการปลูกถ่ายไตต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะไตที่รอคอยนั้น อาจจะมาเมื่อใดก็ได้โดยที่เราจะไม่คาดคิด ความพร้อมทางร่างกายนั้นต้องตรวจเช็คอวัยวะทุกระบบในตัวว่าแข็งแรงพอที่จะทนการผ่าตัดได้หรือไม่ และสามารถรับการรักษาด้วยยากดภูมิต้านทานได้ ผู้ป่วยจะต้องไม่เป็นผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ผลการเปลี่ยนไตจึงจะได้คุ้มค่า

มีการตรวจอะไรบ้าง ที่ควรทำในระหว่างการรอปลูกถ่ายไต

ระบบต่างๆของร่างกายที่ต้องตรวจเช็ค คือ ระบบหัวใจ / ตับ / ปอด / สมอง / ระบบเส้นเลือด และความดันโลหิต
- หัวใจที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ควรได้รับการแก้ไขก่อนที่จะผ่าตัดเปลี่ยนไต
- ตับที่เป็นไวรัสตับอักเสบชนิด บี/ ซี ที่ยังไม่สงบ ควรได้รับการรักษาให้เรียบร้อยก่อน มิฉะนั้นแล้วหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต เชื้อไวรัสอาจกำเริบและเพื่มจำนวนมากเป็นทวี เพราะหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต ผู้ป่วยต้องรับประทานยาประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ง่าย ทำให้เกิดเลือดออกจากแผลในกระเพาะได้
- ระบบเลือด ควรดูเกล็ดเลือดและตรวจดูการแข็งตัวของเลือด เพราะถ้าเลือดหยุดยากอาจจะทำให้เสียเลือดมากในระหว่างการผ่าตัด ควรแก้ไขก่อนทำก่รผ่าตัด การตรวจดูเส้นเลือดที่จะนำไตใหม่ไปต่อมีความจำเป็น ในบางรายที่มีสภาพของเส้นเลือดแข็งและมีแคลเซี่ยมไปเกาะอยู่ที่ผนังเส้นเลือด ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุและโรคผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง

ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA Matching)

การทำแม็ชชิ่ง คือการเจาะเลือดของผู้รอรับไตมาผสมกับเซลล์ของผู้บริจาคไต เพื่อดูว่าเข้ากันได้หรือไม่ จะเกิดปฏิกริยาต่อต้านรุนแรงหรือไม่ถ้าใส่ไตนี้เข้าไปในตัวของผู้รับ การทำแม็ชชิ่งจำเป็นต้องทำทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ก่อน

ผู้บริจาค (Donor)

ไตที่นำมาใช้ปลูกถ่ายได้มาจาก 2 แหล่งคือจากคนบริจาคที่ยังมีชีวิต (Living Donor) และจากคนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว (Cadaveric Donor)

1. คนบริจาคที่ยังมีชีวิต

ตามกฏหมายของแพทยสภาที่ประเทศไทยถือปฏิบัติอยู่ คนบริจาคที่มีชีวิตต้องเป็นญาติโดยทางสายเลือด, สามีหรือภรรยา ซึ่งรวมถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน และญาติ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นญาติโดยทางสายเลือดอย่างแท้จริง ทั้งทางด้านการแพทย์และหรือทางด้านกฏหมาย สำหรับสามี/ภรรยาที่จะบริจาคไตให้คู่ครองของตน จะต้องแต่งงานโดยมีทะเบียนสมรสมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และ/หรือมีลูกสืบสกุลที่เกิดจากสามีภรรยาคู่นั้น ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคควรมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันหรือเป็นกรุ๊ปเลือดที่เข้ากันได้ และผลการทดสอบเข้ากันได้ของเลือดจะต้องไม่มีปฏิกริยาต่อต้านกัน

ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจ ปัสสาวะ อัลตราซาวน์ ตรวจคลื่นหัวใจอย่างละเอียด เพื่อให้มีความแน่ชัดว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ผู้บริจาคต้องมีความเข้าใจในเรื่องการบริจาค มีความตั้งใจ เต็มใจ ที่จะช่วยเหลืออย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากอามิสสินจ้างตอบแทน ภายหลังการบริจาคไต ผู้บริจาคไตจะเหลือไตเพียงข้างเดียว เพียงพักฟื้น 2-4 สัปดาห์ ก็จะสามารถทำงานได้ตามปกติ ผู้บริจาค
จะยังคงมีสุขภาพปกติ แข็งแรงเหมือนคนที่มีไต 2 ข้างตามปกติ สามารถทำงาน ออกกำลังกาย เดินทาง และมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติ เพียงแต่ควรระมัดระวังดูแลไตที่เหลือไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนต่อไต

2. คนบริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

หมายถึง ผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือตายแล้ว การตายนี้ได้รับการพิสูจน์และยืนยันโดยคณะแพทย์ และญาติผู้ตายแสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของผู้ตายคนนั้น ขั้นตอนในการวินิจฉัยการตายและการรับบริจาคอวัยวะ ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของแพทยสภาและของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยอย่างเคร่งครัด แพทย์ในประเทศไทยสามารถให้การวินิจฉัยการตายของคนไข้ได้ โดยยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยแพทยสภาเมื่อแพทย์ตรวจพบว่าคนไข้มีแกนสมองไม่ทำงานอย่างถาวร โดยมีสาเหตุที่ชัดเจน ถือว่าแกนสมองตาย ถือว่าสมองตาย จึงจะถือว่าเป็นการตายที่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าหัวใจยังเต้นอยู่ก็ตาม ญาติของผู้ตายในลักษณะนี้ควรและสามารถแสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะของผู้ตายได้

การเสียชีวิตที่ชัดเจนแบบข้างต้น ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และมีการบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรงและถาวร หรืออาจจะมาจากผู้เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกและสมองถูกทำลายอย่างรุนแรงถาวร เมื่อไตที่บริจาคถูกนำออกจากร่างกายของผู้บริจาคแล้ว ถ้าได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ก็สามารถเก็บได้นานถึง 48 ชม.

การรอปลูกถ่ายไต

การรอปลูกถ่ายไต จะนานแค่ไหน คงจะบอกยาก ขึ้นอยู่กับโชคและดวงเสียส่วนหนึ่ง ที่ว่าคือผู้บริจาคไตนั้นมีเนื้อเยื่อที่คล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่รอรับมากน้อยแค่ไหน บางท่านอาจรอเพียงไม่กี่เดือน ส่วนบางท่านอาจต้องรอเป็นปีๆ ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย 2-3 ปี

การผ่าตัดเปลี่ยนไต

จะถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ โดยเมื่อได้ไตมาแล้ว จะนำมาต่อเข้ากับเส้นเลือดของร่างกายบริเวณหน้าท้องน้อยซึ่งโดยปกติแล้วถือว่าไม่ยากนัก และขนาดก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ หลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องแยกเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ไม่จำเป็นต้องเป็นไอซียู อาจเป็นหอผู้ป่วยที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือห้องเดี่ยวก็ได้แต่ต้องใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อเป็นกรณีพิเศษ เพราะผู้ป่วยในระยะแรกจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปฏิกริยาต่อต้านอวัยวะของร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะไปทำให้ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อลงลง ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อจากญาติ หรือผู้มาเยี่ยมได้ง่ายกว่าคนปกติ จึงต้องมรกฏป้องกันเอาไว้เพื่อผู้ป่วยเองจะค่อยๆลดยากดภูมิต้านทานลง จนไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างใด อาจใช้ระยะเวลาในโรงพยาบาลระหว่าง 2-6 สัปดาห์

การพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาล

หลังออกจากโรงพยาบาล แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยทำงานเบาๆที่ไม่มีความเสี่ยงไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรืองานที่จะเสี่ยงจากโรคที่จะได้รับจากบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการติดเชื้อเช่น ไข้หวัด โรคปอด หรือแผลเป็นหนองสามารถนอนกับสามีภรรยาได้ตามปกติ แพทย์จะแนะนำให้กลับไปทำงานได้หลังจาก 1 เดือน ถ้าไม่มีอะไรแทรกซ้อน ค่อยๆออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อฝึกฝนและเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านที่ฝึกฝนจนสามารถแข่งขันกีฬาแทบทุกชนิดได้

การใช้ยาหลังการปลูกถ่ายไต

ยาที่ใช้หลังการผ่าตัดมีอยู่หลายกลุ่ม เพื่อจุดประสงค์ต่างๆกัน เช่น
- ยากดภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสลัดไต (Acute rejection)
- ยาที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากได้ยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง จะมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติยาป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ จะให้ไปอย่างน้อย 3 เดือน และอาจจะต้องให้ซ้ำถ้ามีภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกดอย่างมาก โดยเฉพาะหลังได้รับยารักษาภาวะสลัดไต
- ยารักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่นยารักษาเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยารักษาความดันโลหิต สูง ยาลดไขมัน ยาลดบวม ยาที่เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ยาที่เพิ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงในภาวะโลหิตจาง
- ยาวิตามินเพื่อเสริมสร้างบำรุงร่างกาย

โอกาสประสพความสำเร็จในการปลูกถ่ายไต

ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายไตขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือชนิดของไตที่ได้รับ ดังนี้
ไตจากผู้มีชีวิต ผลสำเร็จใน 1 ปี ประมาณ 95%
ผลสำเร็จใน 5 ปี ประมาณ 90 %
ไตจากผู้เสียชีวิต ผลสำเร็จใน 1 ปี ประมาณ 85 %
ผลสำเร็จใน 5 ปี ประมาณ 70 %

สาเหตุที่ทำให้ไตหลังการปลูกถ่ายเสื่อม มีดังนี้
- การรับประทานยาไม่สมำเสมอ ลืมทาน ทานมากเกิน ทานยาน้อยไป
- การกำเริบของโรคไตเดิม
- การต่อต้านไตแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง
- การติดเชื้อโรคในไต
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต หากไตไม่ทำงานไม่ว่าจะเกิดจากการต่อต้านแบบเฉียบพลัน หรือเกิดจากเทคนิคการผ่าตัดจนไตเสียแล้วนั้น จำเป็นต้องผ่าเอาไตออก แต่ถ้าไตทำงานไปได้นานแล้ว และเกิดการเสื่อมอย่างช้าๆ อย่างเรื้อรังจนไม่ทำงานไปในที่สุด ในกรณีหลังนี่ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าเอาไตออก

ภาวะแทรกซ้อนหลังการเปลี่ยนไต

๑. ไตไม่ทำงานทันที ที่ใส่เข้าไปในร่างกาย : ป้องกันได้ด้วยการตรวจการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อให้ถูกต้องก่อนทำการปลูกถ่ายไต
๒. การสลัดไตอย่างเฉียบพลัน : มีประมาณ ๒๐-๔๐ % ในปีแรก ขึ้นกับชนิดของยาที่ใช้กดภูมิต้านทานอวัยวะที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาสเตียรอยด์ ซึ่งไม่แพงมากนัก มีจำนวนน้อยที่ต้องใช้ยาที่มีราคาแพงเพื่อควบคุมการสลัดไต
๓. การสลัดไตอย่างเรื้อรัง : คือการเสื่อมสภาพของไตอย่างช้าๆ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยเด็ดขาด แต่สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยการควบคุมโรคที่อาจเกิดร่วมด้วยให้ดี เช่น ความดันโลหิต ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และต้องกินยาลดภูมิต้านทานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสลัดไตอย่างเฉียบพลัน ซึ่งจะมีผลทำให้ไตมีอายุยืนยาวขึ้น
๔. การติดเชื้อจากเชื้อทั่วไป : หลังการปลูกถ่ายไต ภูมิต้านทานร่างกายจะลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายจากเชื้อทั่วๆไป เช่น ปอดบวม กรวยไตอักเสบ หรือจากเชื้อพวกฉวยโอกาส เช่น ไวรัส CMV , Herpes, EB virus เชื้อรา เชื้อพยาธิ วัณโรค และอาจต้องกินยาเพื่อป้องกันพวกเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ด้วยในระยะแรกหลังการผ่าตัด
๕. มะเร็ง : หลังการปลูกถ่าย ภูมิต้านทานร่างกายลดลง ทำให้เกิดโอกาสเกิดมะเร็งได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ได้รับการปลูกถ่ายและรับทานยาลดภูมิต้านทานมานานแล้ว มะเร็งที่มักพบได้บ่อยได้แก่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งของไตเก่า
๖. ภาวะแทรกซ้อนความดันโลหิตสูง : อาจเป็นจากโรคที่มีมาก่อนการผ่าตัด หรือเกิดจากยาที่ใช้ในการลดภูมิต่อต้านอวัยวะ เช่น เพร็ดนิโซโลน นีโอรัล หรือ โปรกราฟ ก็มีส่วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
๗. โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน : ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าบุคคลทั่วไป อาจเพราะมีโอกาสมากที่มีความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดห้วใจตีบตัน
๘. เบาหวาน : ยาเพร็ดนิโซโลน และโปรกราฟ ทำให้มีโอกาสเกิดเบาหวานได้ง่ายขึ้น หรือเบาหวานที่เป็นอยู่แล้วควบคุมได้ยากขึ้น
๙. ไขมันในโลหิตสูง : พบได้สูง 50-80% และอาจเกิดจากการใช้ยาเพร็ดนิโซโลน และนีโอลัล ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ยาลดไขมันจำพวกกลุ่ม สตาติน เช่น ลิปิตอร์ หรือ โซคอร์
๑๐. กระดูกผุกร่อน : ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย มักมีภาวะกระดูกขาดแคลเซี่ยมอยู่แล้ว เมื่อได้รับยาเพร็ดนิโซโลนก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกผุได้ง่าย บางรายอาจถึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวกระดูกตะโพกก็มีแผลในกระเพาะอาหาร ยาเพร็ดนิโซโลน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับยาลดกรดในกระเพาะร่วมด้วย
๑๑. ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการลดภูมิต้านทานอวัยวะแปลกปลอม :
ยาแต่ละตัวจะมีผลข้างเคียงต่างๆ กัน และไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับทุกคน
นีโอรัล ขนขึ้นตามหน้าและตัว เหงือกหนาขึ้น พิษต่อไต ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคสูง ความดันโลหิตสูง
โปรกราฟ พิษต่อไต เบาหวาน มือสั่น ผมร่วง
เพร็ดนิโซโลน สิว หน้ากางขึ้น น้ำหนักขึ้น แผลในกระเพาะ เบาหวานลงไต โรคตับอักเสบเรื้อรัง กระดูกพรุน

ข้อควรและไม่ควรปฏิบัติหลังได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว

ผู้ป่วยที่ปลูกไตแล้ว สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ควรเลือกลักษณะงานที่เหมาะสม งานที่สกปรก สิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด อับชื้น ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- ควรบอกนายจ้างให้ทราบ เพื่อจะได้จัดงานที่เหมาะสมให้ จัดการประกันสุขภาพตามสิทธิ
- ไม่ควรออกแรง ทำงานหักโหมจนเกินไป ผักผ่อนเท่าที่จำเป็น
- การไปเที่ยว ควรเลือกสถานที่ สิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย ควรมีโรงพยาบาลที่เข้าถึงได้ง่าย
- สามารถขับขี่ยานพาหนะได้ตามปกติ
- สามารถมีลูกได้ตามปกติ สำหรับหญังอาจมีปัญหาในการตั้งครรภ์ได้
- สามารถเล่นกีฬา ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่อย่าให้หักโหมจนเกินไป

ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าผลที่ได้ดี ผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดีถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่น นอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้น ในการปลูกถ่ายไตแพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ ว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลจะไม่ดีและในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้ สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไตทุกระยะ จากประสบการณ์ในการรักษาที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่าผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีและรักษาใจของตนเองได้ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด ผลการรักษามักจะดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้โรคที่เป็นจะรุนแรงหรือแม้จะทุพพลภาพ การรักษาใจร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีความสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ควรให้ความสำคัญและช่วยกันทำเพื่อผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ไตวายและไตวายเรื้อรัง

ไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่อย่างเรื้อรัง ทำให้เกิดการคั่งของของเสียและน้ำ

ไตคืออะไร

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายในการขับของเสีย และควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล ปกติมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วเท่ากำปั้น มีอยู่ 2 อัน ถ้าไตข้างใดข้างหนึ่งเสียไตอีกข้างสามารถทำหน้าที่แทนได้ เมื่อไตเสียหน้าที่ทั้ง 2 ข้าง คือไม่สามารถกรองของเสียหรือที่เรียกว่าไตวายก็จะเกิดอาการซึ่งเกิดจากการคั่งของของเสีย และการคั่งของน้ำและเกลือแร่ และการเสียสมดุลของฮอร์โมนของร่างกาย

ไต มีหน้าที่อะไร

1. ขับถ่ายของเสียที่เกิดจาการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน หากของเสียพวกนี้คั่งมากๆ จะมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร หมดสติ และอาเจียน
2. ควบคุมปริมาณน้ำ และเกลือแร่ที่เกินความจำเป็น โดยขับออกทางปัสสาวะ
3. ผลิต และควบคุมการทำงานของฮอร์โมน เช่นฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซี่ยม และฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงฮอร์โมนที่ไตผลิตได้แก่

* Erythropoietin ทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง
* Renin ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิต
* vitamin D ทำหน้าที่สร้างกระดูก

ไตวายเรื้อรัง เกิดจากอะไร

1. เกิดจากกรวยไตอักเสบเรื้อรัง
2. เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบตัน
3. จางทางเดินปัสสาวะอุดตัน เช่น นิ่ว
4. โรคเบาหวาน
5. จากโรค SLE
6. จากยาบางชนิด

อาการของไตวาย

เมื่อไตเริ่มวายผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นผู้ป่วยจะปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยขึ้นเนื่องจากไตไม่สามารถดูดซึมน้ำกลับ นอกจากปัสสาวะตอนกลางคืนแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ความจำไม่ดี นอกจากนี้ยังมีอาการตามระบบต่างๆดังนี้

1. ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ [ neuromuscular] จะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ปลายเท้าปลายมือชาเนื่องจากปลายประสาทอักเสบ [peripheral neuropathy ] เป็นตะคริว และชัก
2. ระบบทางเดินอาหาร [gastrointestinal] เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ เป็นอาการที่พบที่พบทุกราย ถ้าไตวายมากขึ้นบางรายมีเลือดออกทางเดินอาหาร
3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด [ cardiovascular ] ถ้าไตวายมากมีการคั่งของเกลือและน้ำจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง มีอาการบวมเนื่องจากหัวใจวาย บางรายมีอาการมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ [ pericarditis ]
4. ผิวหนัง มีอาการคัน ผิวจะมีสีเหลือง-น้ำตาล

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. การตรวจ CBC พบว่ามีซีดเนื่องจากไตสร้างฮอร์โมนน้อยลง
2. การตรวจปัสสาวะพบว่ามีไข่ขาวในปัสสาวะ
3. ตรวจการทำงานของไตโดยตรวจค่า creatinin ค่าปกติอยู่ระหว่าง 0.6-1.2 mg%
4. การตรวจ creatinin clearance โดยการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงหาสาร creatinin ในปัสสาวะและเจาะเลือดหาสาร creatinin นำมาคำนวณค่าปกติ 97-137 มิลิลิตรต่อนาที 88-128 มิลิลิตรต่อนาทีสำหรับชายและหญิงตามลำดับ
5. การตรวจหา BUN [blood urea nitrogen]ค่าปกติไมเกิน 20 mg%
6. การตรวจเกลือแร่ พบว่าเลือดจะเป็นกรดมีค่า CO2อยู่ระหว่าง 15-20 mmol/L Calciumในเลือดจะต่ำ Phosphate ในเลือดสูง
7. การตรวจเพื่อประเมินขนาดไตโดยอาจจะใช้ ultrasound หรือ CT

การรักษา

การรักษาต้องรักษาปัจจัยที่ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น เช่น ภาวะขาดน้ำ ยาที่มีพิษต่อไต หัวใจวาย การติดเชื้อ หลักการรักษาไตวายประกอบด้วย

1. การควบคุมอาหารสำหรับโรคไต
2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
3. การล้างไตผ่านทางท้อง
4. การเปลี่ยนไต

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม Hemodialysis

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นการนำเลือดผ่านเข้าเครื่องไตเทียมผ่านไปยังเยื่อ Hemodialyzer ซึ่งเป็น semipermeable membrane ซึ่งจะกรองเอาของเสียออก เลือดที่ผ่านการกรองก็จะกลับเข้าสู่เครื่องไตเทียม และเข้าสู่ร่างกาย ทำให้กำจัดของเสีย คุมความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ และรักษาระดับความดันให้ปกติ

การเตรียมการก่อนฟอกเลือด

ก่อนฟอกเลือดจะต้องมีการนำเลือดจากหลอดเลือดมาฟอกโดยทำได้ 2 วิธี

* ใช้เข็มเจาะเข้าหลอดเลือดที่หลอดเลือดบริเวณคด และหลอดเลือดขาหนีบ วิธีนี้ใช้ฟอกเลือดได้ 2-6 สัปดาห์
* วิธีที่สองเป็นการต่อหลอดเลือดแดง และดำ [arteriovenous [ A-V] fistular ]หลังต่อหลอดเลือดดำจะพองและขยายทำให้สามารถใช้เข็มเจาะเอาเลือดไปฟอกได้ วิธีนี้เป็นวิธีการถาวรแต่ต้องใช้เวลาให้หลอดเลือดดำพองตัว

ขณะฟอกท่านสามารถอ่านหนังสือหรือรับประทานอาหารได้ ใช้เวลาฟอก 2-4 ชั่วโมง อาทิตย์ละ2-3 ครั้ง

โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ

พบได้บ่อยคือ ความดันโลหิตต่ำ อาจเกิดจากผู้ป่วยกินยาลดความดันโลหิตก่อนฟอกและตะคริว เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่เร็วเกินไป ใช้เวลาในการปรับตัวหลายเดือน โรคแทรกซ้อนที่พบได้น้อยได้แก่ ไข้ เลือดออกทางเดินอาหาร คัน นอนไม่หลับเป็นต้น

ข้อห้ามการฟอกเลือดคือ ความดันโลหิตต่ำ และเลือดออก

ข้อปฏิบัติก่อนการฟอกเลือด

1. ควรงดรับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนฟอก 4-6 ชั่วโมง
2. ถ้ามีการเสียเลือดมาก เช่นมีประจำเดือน อุจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ให้แจ้งแพทย์ก่อนฟอกเลือดทุกครั้ง

การปฏิบัติตนขณะฟอกเลือด

1. แขนข้างที่กำลังฟอกให้อยู่นิ่งๆ
2. เตรียมอาหารมารับประทานขณะฟอกเลือด
3. ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น ขณะฟอกให้แจ้งพยาบาลผู้ดูแลทันที

ข้อควรปฏิบัติหลังฟอกเลือด

* หลังการฟอกเลือดใหม่จะมีการห้ามเลือดโดยใช้พลาสเตอร์หรือผ้ากอซปิด เมื่อเลือดหยุดจึงเอาผ้าก๊อซออกและติดพลาสเตอร์
* รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
* รับประทานอาหารตามคำแนะนำดังกล่าวมาแล้ว
* ชั่งน้ำหนักทุกวัน โดยควบคุมมิให้น้ำหนักเพิ่มเกินวันละ 0.5 กก.
* หลังการฟอกเลือดให้ระวังการถูกกระแทกแรงๆเพราะจะทำให้เกิดช้ำได้

การรับประทานอาหาร

1. ให้รับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา แทนจากถั่วและผัก
2. เลือกอาหารที่มีโพแทสเซียมไม่สูงไม่ต่ำเนื่องจากสูงหรือต่ำไปจะทำให้เกิดผลเสียต่อหัวใจ
3. จำกัดน้ำดื่มมิให้น้ำหนักเพิ่มเกินวันละ 0.5 กิโลกรัม
4. งดอาหารเค็ม
5. งดอาหารที่มี phosphate สูงดังกล่าวข้างต้น

การล้างไตผ่านทางท้อง

หลักการฟอกไตวิธีนี้คือการใส่สายเข้าไปในช่องท้อง แล้วใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงปล่อยออก การฟอกมีด้วยกันหลายวิธี เช่น

* Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis (CAPD)
* Continuous Cyclic Peritoneal Dialysis (CCPD)
* Intermittent Peritoneal Dialysis (IPD)

ระยะเวลาในการฟอกขึ้นกับวิธีการฟอก เช่น (CAPD) ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ,(CCPD)ใช้เวลา 12 ชั่วโมง

โรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ช่องท้องอักเสบ ป้องกันโดยทำการล้างท้องแบบปราศจากเชื้อ

การดูแลหลังสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง

เนื่องจากผู้ที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้องจะมีน้ำในท้อง และกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง การยกของหนักจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่ายจึงมีคำแนะนำดังนี้

* คำนึงถึงน้ำหนักที่จะยกว่าหนักไปหรือไม่
* ให้ยกของใกล้ตัวมากที่สุด
* เวลาจะยกของให้กางขาออก เก้าเท้าไปข้างหน้าหนึ่งเท้า
* ให้ย่อเข่าแทนการก้ม
* อย่ายกของจากที่ชั้นที่สูง
* อย่ายกของและบิดเอว
*

การเปลี่ยนไต

คือการนำไตที่ไม่เป็นโรคมาผ่าตัดให้กับคนที่เป็นโรคไตวาย วิธีการได้มา อาจจะนำจากผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว หรือจากการบริจาคของญาติ และเพื่อน ก่อนการเปลี่ยนไตแพทย์จะต้องตรวจเลือดและเนื้อเยื่อว่าเข้ากับผู้ป่วยหรือไม่เพื่อป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อ หลังการเปลี่ยนไตแพทย์จะให้ยากดภูมิรับประทาน

การออกกำลังกายในผู้ป่วยไตวาย การตรวจการทำงานของไต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

* ความดันโลหิตสูง
* โรคเบาหวาน
* เกลือและสุขภาพ
* ไขมันในเลือดสูง
* อาหารที่มีเกลือต่ำ