วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ไตวาย" ร้ายกว่ามะเร็ง


โรคไต” มหันตภัยเงียบที่กำลังคุกคามคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนอกจากต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการของโรคแล้ว หลายคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวกับค่ารักษากันไปเลย
เพราะผู้ป่วยโรคนี้ส่วนมาก กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคไต ก็เมื่อโรคลุกลามไปมาก ถึงขั้นต้อง ล้างไต ฟอกเลือด หรือ เปลี่ยนไต ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และต้องรักษาต่อเนื่องไปนาน ตราบจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิต
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการ สร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงพยายามคิดหารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไต โดยเฉพาะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีโอกาสรับบริการภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โดยเริ่มต้นจากการจัดโครงการนำร่องเพื่อศึกษาวิธีการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไต ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย
และปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สปสช. พาสื่อมวลชนเดินทางขึ้นเหนือ เพื่อเปิดตัวโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง หนึ่งใน โรงพยาบาลนำร่อง รักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่ง สปสช.พยายามที่จะผลักดันให้เป็นหนึ่งใน “สิทธิ” ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรค
น.พ.ประนาท เชี่ยววานิช อายุรแพทย์ โรคไต รพ.ศูนย์ลำปาง เล่าว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตจำนวนไม่น้อยต้องสิ้นเนื้อ ประดาตัว เนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทในการผ่าตัดเปลี่ยนไต (KT) การล้างช่องท้อง (PD) การฟอกเลือด (HD) ได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการฟอกไต แต่ละครั้ง สูงถึง 2,000 บาท บางคนต้องล้างไต สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งถ้าเป็นผู้ป่วยบัตรทอง ที่ผ่านมา รพ.ได้หาทางช่วยเหลือโดยคิดค่าฟอกไตเพียงครั้งละ 1,000 บาท ซึ่งก็ยังสูงอยู่มาก ขณะเดียวกันเครื่องฟอกไตของ รพ.ที่มีอยู่จำนวน 7 เครื่อง สามารถใช้ ได้วันละ 2 รอบ แต่ละรอบกินเวลาถึง 4 ชั่วโมง
ดังนั้น ใน 1 วัน รพ. สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ เพียง 14 คน ทำให้ยังมีผู้ป่วยโรคไตเข้าคิวรอฟอกไตอยู่อีกเป็นจำนวนมากเฉพาะที่ รพ.ลำปางมีมากถึงกว่า 200 คน
น.พ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. บอกว่า สปสช. ได้นำร่องการให้ บริการผู้ป่วยโรคไต โดยพิจารณาเลือกโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสูง คือ รพ.ศรีนครินทร์, รพ. สงขลานครินทร์ และ รพ.บ้านแพ้ว เพื่อสร้างศูนย์การให้บริการต้นแบบในการขยายการเข้าบริการทดแทนไต ภายใต้หลักการหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า
ทั้งนี้ เพราะการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเกินความสามารถของครัวเรือนที่จะรับภาระได้ บางครั้งทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องประสบกับภาวะหนี้สิน สิ้นเนื้อประดาตัวจากการเจ็บป่วย ซึ่งหากสามารถให้สิทธิการดูแล ประคับประคองไตกับผู้ป่วยที่สามารถเปลี่ยนถ่ายไตได้ จะทำให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถกลับไปทำงาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้
ซึ่งในปีที่ผ่านมา สปสช.ได้เลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการ ทั้งความพร้อมบุคลากรและอุปกรณ์ทำการล้างช่องท้อง คือ ที่ รพ.สงขลานครินทร์ และ รพ.ขอนแก่น เป็น รพ.นำร่องในฐานะโครงการต้นแบบ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มี รพ. มหาวิทยาลัยเป็นแม่ข่าย ดำเนินการอบรมให้กับโรงพยาบาลชุมชน
ส่วนที่ รพ.บ้านแพ้ว ซึ่งมีระบบการเงินการคลังที่แตกต่างจากโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ได้ทดลองให้มีการร่วม จ่าย 3 วิธี
วิธีแรก คือ การล้างไตด้วยการฟอกเลือด ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้ให้บริการ ที่ต้องมี แพทย์ พยาบาล และเครื่องมือที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
วิธีที่ 2 การล้างช่องท้อง สามารถทำได้ โดยไม่ต้องลงทุนมากเหมือนการฟอกเลือด แต่ต้องมีบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้เท่านั้น ซึ่งสามารถทำได้โดยให้การศึกษากับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองได้ หลังจากได้รับการอบรมแล้ว
และวิธีที่ 3 การผ่าตัดไต วิธีนี้ ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง และจะต้องมีอวัยวะเพียงพอที่จะเปลี่ยน ซึ่งเป็นการลงทุนสูงที่สุด ที่สำคัญ วิธีนี้ต้องมีไตที่สามารถเข้ากันได้กับ ผู้ป่วยด้วย
คุณหมอวีระวัฒน์ บอกว่า รูปแบบต่างๆ ที่ว่านี้ ได้ดำเนินงานมาครบ 1 ปีแล้ว ในโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าประสบความสำเร็จ ที่สามารถจะนำไปพัฒนาเป็นต้นแบบในภาคอื่นๆ ได้
และในปี 2549 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการเพิ่มอีก 10 แห่งรวม 13 แห่ง ภายใต้วงเงินทั้งสิ้น 200 ล้านบาท โดย รพ.ศูนย์ลำปาง เป็นแห่งหนึ่งที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะมีการคัดกรองผู้ป่วย หากผ่าตัดเปลี่ยนไตเป็นอันดับแรก มีศักยภาพทำได้ 300-500 คนต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดปัญหาว่าไม่มีผู้บริจาคไต
ข้อมูลล่าสุดที่สภากาชาดไทย มีผู้บริจาคไตเพียง 200 ชิ้นต่อปีเท่านั้น
ส่วนการล้างไตเทียมซึ่งทำโดยเครื่อง มีจำนวน 20,000 คนต่อปี มีผู้ป่วยที่เข้าถึงและได้รับการรักษาที่มูลนิธิโรคไตประมาณ 7,047 คน ที่เหลือยังเข้าระบบไม่ได้ เพราะเป็นผู้ป่วยบัตรทอง มีเพียงผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการและประกันสังคมเท่านั้น ที่ได้รับสิทธิ ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 12,000 บาท
สำหรับการล้างไตผ่านช่องท้อง แม้จะเป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ไม่ต้องไปทำที่โรงพยาบาล และถ้ามีผู้ป่วยใช้วิธีดังกล่าวจำนวนมาก จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และแม้วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด แต่ก็ต้องระมัดระวัง หากผู้ป่วยทำไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้ติดเชื้อได้
การปลอดจากโรคไต จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
นั่นหมายถึงการป้องกัน หรือรู้ตัวตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจนถึงเดือน ธ.ค. 2549 จะมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับการล้างไตถึง 30,750 ราย ซึ่งถ้ารัฐให้สิทธิทุกราย จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ยังไม่นับถึงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าใช้ฐานตัวเลขค่าใช้จ่ายการฟอกเลือดปีละ 250,000 บาท คูณกับจำนวนผู้ป่วยข้างต้น รัฐจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระต่อรัฐบาลไม่น้อย
ถึงเวลานี้ คงไม่ต้องพูดถึงว่า รัฐจะหาเงินที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโรคไต แต่ต้องทำให้คนไทยเห็นคุณค่าและความสำคัญของการรักษา “ไต” ไม่ให้ป่วย ให้มากขึ้น
ทุกวันนี้หลายคนเริ่มเห็นพ้องกันแล้วว่า “ไตวาย” ร้ายกว่ามะเร็ง!