วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง (1)





11 สิงหาคม 2548 13:48 น.

คอลัมน์...สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน
โดย รศ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตเสื่อมหน้าที่ลงช้า ๆ แต่ถาวร ปัจจุบันไม่นิยมใช้คำว่า chronic renal failure (CRF) อัตราการเสื่อมของไตขึ้นกับหลายปัจจัยรวมถึงสาเหตุของโรคไตเสื่อม การชะลอความเสื่อมของไตสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การควบคุมความดันโลหิตสูง การลดระดับไขมันในเลือด

ในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่จะดำเนินไปเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การรักษาโดยใช้การบำบัดทดแทนไตที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมีความจำเป็น การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง แต่อย่างไรก็ตามสามารถทดแทนบำบัดไตได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนการล้างไตทางหน้าท้อง มีประสิทธิภาพด้อยกว่าการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมและยังต้องพึ่งการทำงาน ของไตที่เหลืออยู่ร่วมด้วย นอกจากนี้ก็มีการผ่าตัดปลูกไต

คุณมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังหรือไม่ ?
1. ACE inhibitors เป็นยาป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวาน
2. การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมที่เพียงพอคือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
3. ในปัจจุบันพบว่าอัตราการตายจากการล้างไตลดลงอย่างเห็นได้ชัด
4.การล้างไตทางช่องท้องโดยใช้น้ำยาที่มี Glucose polymers จะทำให้การควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกายดีมากขึ้น
5.การใช้ยารักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยที่มีไข่ขาวในปัสสาวะมากโดยเป้า หมายให้ลดความดันลงให้ได้ <125/75 มิลลิเมตรปรอท จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้

สาเหตุของไตวายเรื้อรังที่สามารถแก้ไขได้ เช่น การอุดตันทางเดินปัสสาวะ โรคไตจากยาแก้ปวด โรคไตจากลูปัส โรคไตจากเส้นเลือดอักเสบ โรคไตจากโรค amyloidosis โรคไตจากวัณโรค และโรคไตจากภาวะยูริกในเลือดสูง ดังนั้น การหาสาเหตุของไตวายเรื้อรังจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและการตรวจวิจัยเพิ่มเติม รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อไตตรวจ

การดำเนินโรค การลดลงของหน้าที่ไตมักเป็นแบบเส้นตรงเมื่อเทียบระหว่าง ค่าปฏิภาคกลับของ creatinine และ เวลา ถึงแม้จะมีความแตกต่างอื่น ๆ เช่น ความเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย ภาวะขาดน้ำและการใช้ยา อัตราการเสื่อมหน้าที่ของไตขึ้นกับหลายปัจจัยรวมถึงสาเหตุพื้นฐานของการเกิด ภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง การควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย รวมถึงตัวผู้ป่วยเอง

สำหรับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรคไปสู่การเกิดโรคไตวายเรื้อรังมีดังนี้
-อัตราการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและภาวะไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างมากตาม อายุ และสาเหตุไตวายเรื้อรังในผู้สูงอายุส่วนใหญ่แตกต่างกับในผู้ป่วยอายุน้อย โดยพบว่าเกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดแดงที่ไตตีบตัน และโรคต่อมลูกหมาก

-ผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงต่อการลดลงของการทำงานของไตมากกว่า และโรคไตพบในเพศชายได้บ่อยกว่า
-เชื้อชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง เพราะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงพบบ่อยในกลุ่มคนเอเชียและแอฟริกัน อเมริกัน
-ปัจจัยทางพันธุกรรม มีลักษณะบางอย่างมีความไวต่อการเกิดโรคไต
-ภาวะไข่ขาวในปัสสาวะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
-ภาวะไขมันในเลือดสูง มีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าเพิ่มการเกิดโรค
-ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ที่สุดต่อการเกิดโรค โดยพบว่าอัตราการเสื่อมหน้าที่ของไตอาจลดลงได้มากถึง 10 เท่า ขึ้นกับค่าของความดันโลหิต
-การสูบบุหรี่ มีการพิสูจน์ชัดเจนว่ามีผลต่อการเกิดโรคไต
อาการและอาการแสดง

อาจไม่มีอาการหรือมาด้วยภาวะของเสียคั่งในเลือด (uremia) ซึ่งมีอัตราการตายสูง และพบว่ามีคนไข้ถึงหนึ่งในสามต้องทำการล้างไตแบบฉุกเฉิน และบางรายมีภาวะโลหิตจาง, น้ำเกิน, และความดันโลหิตสูงซึ่งทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนและผลของโรคไตวายเรื้อรัง
1.โรคหัวใจและหลอดเลือด
พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังและภาวะไข่ขาวในปัสสาวะก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ สำคัญเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความชุกของการมีโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง และภาวะหัวใจห้องซ้ายล่างโต รวมถึงภาวะการขาดสารอาหาร

2.ภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอันเป็นผลมาจากการลดลง ของระดับฮอร์โมน erythropoietin และการที่ไขกระดูกไม่ตอบสนองต่อ erythropoietin ดังนั้นการใช้ยาฮอร์โมนดังกล่าวสามารถแก้ไขภาวะนี้ได้ แต่เป้าหมายของระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงยังไม่เป็นที่ตกลง โดยการแก้ภาวะโลหิตจางจะทำให้การทำงานของหัวใจดีขึ้นและขนาดของหัวใจจะลดลง

3. โรคเกี่ยวกับกระดูก
ซึ่งในผู้ป่วยที่มีภาวะของเสียคั่งในเลือดจะทำให้กระดูกไม่ตอบสนองต่อ ฮอร์โมนพาราไทรอยด์และมักขาดวิตามินดีร่วมด้วย ในระยะแรกมักไม่มีอาการ ดังนั้นการใช้ผลเลือดและเอกซเรย์จะช่วยได้

4. ภาวะทุกโภชนาการ
ภาวะทุพภชนาการพบได้บ่อยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สาเหตุเพราะการลดลงของระดับคอเลสเตอรอล, ระดับไข่ขาวในเลือด

ผู้ป่วยมักถูกแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนสูง แต่การหลีกเลี่ยงเช่นนี้ก็ทำให้ได้รับจำนวนแคลอรีลดลงด้วย โดยปัญหาความสมดุลของโซเดียม โพแทสเซียมและสมดุลของน้ำ

5. การเปลี่ยนแปลงในระบบต่อมไร้ท่อ
- การเปลี่ยนแปลงการสร้างวิตามินดี
-การลดลงของฮอร์โมน erythropoietin
-การหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบได้บ่อย และสามารถรักษาโดยการใช้ sildenafil, testosterone และ erythropoietin
-ผู้ป่วยมักไม่มีประจำเดือน, การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังหรือรักษาด้วยการล้างไตเป็นไปได้ยากและโอกาสสำเร็จน้อย

ผู้จัดการออนไลน์ - Manager Online (http://www.manager.co.th)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้ความรู้มากขึ้นชอบค่ะ