วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไตวาย ไม่ตายไว

โรคไตวาย เกิดจากการที่ไตสูญเสียหน้าที่ ไม่สามารถขับน้ำ และของเสียออกจากร่างกายได้ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล และเลือดเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ซึม คลื่นไส้ และเสียชีวิตในที่สุดได้
โรคไตวายมี 2 แบบ แบบ เฉียบพลัน ซึ่งไตวายชั่วคราว สามารถฟื้นกลับมา ทำหน้าที่ได้อีก หายเป็นปกติได้ และแบบเรื้อรัง ซึ่งการทำงานของไตเสียอย่างถาวร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกแล้ว
สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง มีหลายอย่าง บางอย่างสามารถรักษา และป้องกันการเสื่อม หรือชลอการเสื่อมของไตได้ ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาต้นเหตุเหล่านี้ หน้าที่ของไตจะค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งเป็นไตวายระยะสุดท้าย
โรคไตวายเรื้อรัง ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด สุดท้ายจะทำให้เกิดภาวะยูเรเมีย (Uremia) เหมือนกัน ทำให้มีอาการ ซีด บวม อ่อนเพลีย ซึมลงจนหมดสติและชักได้ ร่างกายจะดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าไตไม่ทำงานขับถ่ายของเสีย แต่ผู้ป่วยยังไม่สิ้นหวัง ด้วยความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยไตวาย ให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพพอสมควร

โรคไตวายเรื้อรังเกิดจากอะไร ?

โรคไตวายเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นภาวะที่ เกิดจากโรคหลายอย่าง สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเบาหวาน ที่เป็นมานานเกิน 15 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงนานๆ โรคไตอักเสบเรื้อรัง นิ่วก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในคนไทย

โรคไตวายเรื้อรังรักษาให้หายได้ไหม ?

เมื่อไตเสื่อมหน้าที่อย่างเรื้อรัง การทำงานของไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไตฝ่อ ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ โดยการลดอาหารประเภทโปรตีน และควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในภาวะปกติ

โรคไตวายเรื้อรังสามารถป้องกันได้ไหม ?

สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังหลายอย่าง สามารถป้องกันได้ เช่น การควบคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูงให้ดี สามารถลดอุบัติการของโรคไตวายเรื้อรังได้ โรคไตอักเสบหลายชนิดสามารถรักษา และสงวนการทำงานของไตได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังรักษาไม่หาย แต่อาจป้องกันได้ การตรวจพบโรคไต และรักษาตั้งแต่ระยะแรก จึงมีความสำคัญมากในการป้องกันไตวาย เป็นที่น่าเสียใจว่า ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา จนทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต ?

โรคไตบางอย่าง อาจแสดงอาการ เช่น บวม ปัสสาวะเป็นเลือด แต่โรคไตอักเสบหลายอย่าง ไม่แสดงอาการเลย จนกระทั่งการทำงานของไตเสื่อมมากแล้ว ถ้าไม่ตรวจปัสสาวะ เลือด ก็จะไม่ทราบว่าเป็นโรคไต เพราะฉะนั้น การตรวจร่างกายประจำปี จึงมีความสำคัญมาก ในการตรวจหาโรคไตที่ไม่แสดงอาการ

อาการปวดหลังเป็นอาการของโรคไต หรือไม่ ?

อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อและกระดูก , โรคไตส่วนใหญ่ ไม่แสดงอาการปวดหลัง นอกจากเป็นนิ่ว และกรวยไตอักเสบ

การรับประทานอาหารเค็ม เป็นสาเหตุของโรคไตหรือไม่ ?

อาหารเค็มไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคไต แต่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ ควรลดอาหารเค็ม เพราะร่างกายไม่สามารถขับเกลือ ออกจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้บวมและความดันโลหิตสูง

เมื่อเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว จะทำอย่างไร ?

ประการแรก ผู้ป่วยควรจำกัดอาหารบางอย่าง เช่น อาหารเค็ม ผลไม้และอาหารที่มีโปรตีนสูง ถ้าความดันโลหิตสูงต้องควบคุมให้ดี ยาจะช่วยลดอาการได้บ้าง แต่ไม่มียาอะไรที่จะขับของเสียออกจากร่างกายได้ วิธีที่จะขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายได้ คือ การล้างไต (Dialysis)

จะรักษาโรคไตวายเรื้อรังได้อย่างไร ?

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดปลูกเปลี่ยนไต จากคนที่บริจาคไตให้ แต่การปลูกเปลี่ยนไตมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ มีผู้บริจาคไตน้อย มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนับร้อยนับพันคน รอการบริจาคไตอยู่ ผู้ป่วยเหล่านี้จะอยู่ได้ด้วยการล้างไต ระหว่างที่รอการปลูกไต

การล้างไตมีกี่วิธี ? วิธีไหนดีที่สุด ?

การล้างไตปัจจุบันมี 2 วิธี

1.
วิธีการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD : Continuous 
Ambulatory Peritoneal Dialysis) วิธีนี้ใช้สายยางฝังไว้
ในช่องท้องอย่างถาวร และใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้อง 
เพื่อล้างเอาของเสียในเลือดออก ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาวันละ 
4 - 5 ครั้ง ทุกวัน วิธีนี้มีข้อดีที่ทำเองที่บ้านได้ แต่มีข้อเสีย
ที่อุบัติการ การติดเชื้อในช่องท้องสูงเมื่อทำไปนานๆ 
และมีการสูญเสียโปรตีน ออกมาทางน้ำยามากในแต่ละวัน 
อาจเกิดภาวะขาดอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่เพียงพอ
2.
การฟอกเลือด (Hemodialysis) โดยการดูดเลือดจากผู้ป่วย
ไปล้างเอาน้ำ และของเสียออก โดยใช้ไตเทียม (เครื่องฟอกเลือด)
เลือดที่ล้างแล้ว จะไหลกลับเข้ามาในตัวผู้ป่วย วิธีนี้ใช้เวลาครั้งละ
ประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อที่จะให้ได้ผลดี ควรฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง
จะเลือกวิธีไหนดีขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย และความพอใจของผู้ป่วย
แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ ทั้งข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 วิธี
และแนะนำวิธีที่เหมาะสมให้ แต่ผู้ป่วยและญาติเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง
ว่าจะล้างไตหรือไม่ แล้วเลือกล้างไตวิธีใด

ไม่มีความคิดเห็น: